ตราสัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์
อักษรพระนามาภิไธย สธ. พร้อมมงกุฎ หมายถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญของวิทยาลัย ได้พระราชทานชื่อวิทยาลัยฯว่า “วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร” และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษร พระนามาภิไธย “สธ” เป็นสัญลักษณ์ของวิทยาลัย
คำขวัญ : “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” หมายถึง ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุดคือ คนที่ฝึกแล้ว
สีม่วง หมายถึง สีประจำพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
ต้นไม้ ดอกไม้ประจำวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี
ต้นตะแบก (Bungor)
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
ความหมาย :
คำว่า “แบก” อันหมายความเกี่ยวกับการแบกรับไม่ให้ตกต่ำ หรือช่วยแบกรับภาระ ตะแบกจึงได้รับความเชื่อที่ว่าเป็นไม้ที่ช่วยค้ำจุนครอบครัวให้ร่มเย็น
ความเชื่อ :
เป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นตะแบกไว้ประจำบ้านจะทำให้มีฐานะสูงขึ้น และมีความมั่นคง แข็งแรง เพราะ แบก คือ การแบกไว้ไม่ให้ตกสามารถยกขึ้นไว้ให้สูงไม่ให้ตกต่ำดังนั้นจึงมีแรงมากบางคนก็เรียกต้องตะแบกว่าเสลา หมายถึง ความแข็งแรงแข็งแกร่งเหมือนกับหินนอกจากนี้ยังมีคนโบราณเรียกต้นตะแบกว่า อินทนิล ซึ่งมีความหมายว่าพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์มากซึ่งช่วยคุ้มครองปวงชนทั้งโลก ดังนั้นต้นตะแบกจึงเป็นไม้มงคลนาม
ลักษณะของตะแบก :
- ต้นตะแบก เมีความสูงประมาณ 15 – 30 เมตร แตกแขนงบนเรือนยอด ทรงพุ่มเป็นรูประฆัง กิ่งแตกแขนงจำนวนปานกลาง โคนต้นเป็นพูพอนสูงและเป็นร่องลึกล้อมรอบลำต้น ยาวสูงจนถึงกลางลำต้น ลำต้นส่วนปลายไม่เกิดร่อง มีแผลเป็นหลุมตื้นตลอดลำต้นอันเกิดจากผิวด้านนอกแตกสะเก็ดหลุดออก เปลือกชั้นในเป็นสีแดงม่วง เปลือกชั้นนอกเรียบเป็นมัน บาง สีเทาหรือน้ำตาลอมเทา สากมือเพียงบริเวณขอบหลุม
- ใบตะแบก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน บางทีออกเรียงเกือบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก เห็นตาง่ามชัดเจน ใบมีขนาดเล็กกว่าใบอินทนิลน้ำ (ขนาด 2 ใน 3 ส่วน) ปลายใบทู่ โคนใบทู่หรือกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลสาก ๆ ขึ้นหนาแน่น ตะแบกเป็นไม้กึ่งผลัดใบ ซึ่งจะผลัดใบหรือไม่ผลัดใบก็ได้ แต่ถ้าผลัดใบก็จะผลัดใบในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม และจะแตกใบใหม่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
- ดอกตะแบก ออกดอกเป็นช่อแบบเป็นกลุ่มย่อย ออกเป็นช่อโต ๆ ตามปลายกิ่ง ตามส่วนต่าง ๆ จะมีขนสาก ๆ ขึ้นทั่วไป ดอกจะมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ โคนกลีบติดกับผนังด้านในของถ้วยกลีบเลี้ยง โคนกลีบดอกแคบ ส่วนปลายกลีบจะเป็นแผ่นกลม ๆ สีขาวหรือสีม่วงอมชมพูอ่อน ๆ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 6 แฉก (เรียกว่า “ถ้วยกลีบเลี้ยง”) มีขนสีสนิมขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ขนาดไล่เลี่ยกัน ออกดอกในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เวลาดอกบานต้นทั้งต้นจะมีอยู่ 2 สี
- ผลตะแบก เมื่อดอกร่วงจะติดผล ผลตะแบกจะเป็นผลแห้งที่เมื่อแก่แล้วจะแห้งแตกออกเป็น 6 แฉก ถ้วยกลีบเลี้ยงจะหุ้มโคนของผลเช่นเดียวกับอินทนิลน้ำและอินทนิลบก ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลแก่เป็นสีน้ำตาล แข็ง เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก มีปีก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลตะแบกจะเริ่มแก่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เมล็ดจะร่วงหล่นเมื่อเปลือกผลแตกและอ้า
- ขอนดอก เป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลที่มีราลง เนื้อไม้จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้มประขาว มองเห็นเป็นจุดสีขาวกระจายทั่วไป ภายในผุเป็นโพรงเล็ก ๆ และมีกลิ่นหอม รสจืด ขอนดอกอาจจะเป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลก็ได้ที่มีอายุมาก ๆ ยอดหักเป็นโพรง มักมีเชื้อราเข้าไปเจริญในเนื้อไม้และไม้ยืนต้นตาย เนื้อไม้จึงเหมือนไม้ผุ
สรรพคุณ :
- เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลงแดง (เปลือก)
- เปลือกใช้ปรุงเป็นยาแก้บิด และมูกเลือด (เปลือก)
- ขอนดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงทารกครรภ์ (ขอนดอก)
- ใช้เป็นยาแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ขอนดอก)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ แก้เหงื่อ แก้เสมหะ (ขอนดอก)
- ในบัญชียาจากสมุนไพร มีปรากฏการใช้ขอนดอกในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ซึ่งมีส่วนประกอบของขอนดอก ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ ได้แก่ ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมกองละเอียด (อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น) และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (อาการหลังจากการฟื้นไข้แล้วยังมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) (ขอนดอก)
- ตำราพระโอสถพระนารายณ์มีปรากฏการใช้ขอนดอกร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 15 ชนิด อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้ละเอียด ทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสายยา เมื่อจะใช้ก็ละลายน้ำซาวข้าวหรือน้ำดอกไม้ก็ได้ ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย ใช้ชโลมตัวเป็นยาแก้ไข้ (ขอนดอก)
ประโยชน์ :
- ไม้ตะแบกเป็นไม้ที่มีคุณค่าชนิดหนึ่งของไทย เนื้อไม้มีลักษณะเป็นสีเทาถึงสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนไม้ตรงหรือเกือบตรง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง เป็นมัน แข็ง เหนียว แข็งแรง เลื่อยไสกบ ตกแต่งได้ง่าย ขัดชักเงาได้ดี จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น รอด ตอ กาน เครื่องบน ไม้ปาร์เกต์ ใช้ในงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เรือ แพ เกวียน แจว เครื่องมือกสิกรรม ฯลฯ ส่วนไม้ตะแบกชนิดลายจะนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามหอก ด้ามมีด พานท้ายปืน คิวบิลเลียด ด้ามปากกา ด้ามร่ม ไม้ถือ กรอบรูปภาพ สันแปรง ไม้บุผนังที่สวยงาม มีลักษณะเหมือนไม้เสลา สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ดี[2]
- นอกจากนี้เนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี คือ ถ้านำมาถ่ายเป็นถ่านและฟืนจะให้ค่าความร้อนถึง 7,524 และ 4,556 แคลอรีต่อกรัม (คำนวณจากตัวอย่างแห้ง)
- มีการนำต้นตะแบกมาปลูกเป็นไม้ประดับในรูปสวนป่าน้อย ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วกันอย่างแพร่หลาย
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/%e0%b8%95%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%81/ | Medthai